รู้จักและเข้าใจ กับ “ยุง” สิ่งมีชีวิตตัวเล็กๆ ที่สร้างผลร้ายได้มากมาย โดยเฉพาะในหัวใจของคุณพ่อคุณแม่ที่ต้องเห็นลูกเป็นตุ่ม ผื่น คัน และเกาจนได้แผล เพราะแค่เจ้ายุงตัวเล็กๆไม่กี่ตัว
สำหรับ คุณพ่อคุณแม่ แล้ว ในชีวิต สิ่งไหนจะสำคัญไปกว่า “ลูก” เป็นไม่มี ความรักความผูกพัน เป็นห่วงเป็นใย ที่เริ่มต้นเมื่อมีอีกชีวิตก่อกำเนิดขึ้นในครอบครัว “สุขภาพ” ของลูกน้อยนับเป็นเรื่องราวหลักๆ ที่พ่อแม่จะให้ความสำคัญเป็นอันดับแรกในชีวิตลูก ทั้งร่างกายและจิตใจ ซึ่งหนึ่งในความหนักอกหนักใจที่สร้างปัญหายุ่งบนร่างกายลูกน้อย และต่อเนื่องไปถึงในใจของพ่อแม่ คือเรื่องอันตรายจากยุง แมลงตัวเล็กๆ แต่สร้างอันตรายได้ชนิดที่เผลอพลาดไปนิด อาจถึงแก่ชีวิตเลยทีเดียว
เพื่อการรับมือกับยุง และป้องกันอันตรายให้กับลูกน้อยได้อย่างตรงจุด และตรงใจคุณพ่อคุณแม่ เรามาทำความรู้จัก และเข้าใจเรื่องของยุงและอาการของยุงกันก่อนนะคะ
“ยุง” เป็นแมลงที่พบได้ทั่วโลก แต่พบมากในเขตร้อนและเขตอบอุ่น โดยปกติ ตัวเมียมักจะกินเลือดเป็นอาหาร ส่วนตัวผู้มักจะกินน้ำหวานในดอกไม้ ยุงยังเป็นแมลงที่เป็นพาหะแพร่เชื้อโรคอีกด้วย เช่น ไข้เลือดออก ยุงทั่วโลกมีอยู่ประมาณ 3,450 ชนิด แต่พบในประเทศไทยประมาณ 412 ชนิด โดยชนิดที่คุ้นเคยกันดี คือ ยุงก้นปล่อง (Anopheles) และยุงลาย (Aedes)
หลักฐานอันตรายของยุงที่เราเห็นกับตาอยู่บ่อยๆ แต่ไม่มีทางชินได้ โดยเฉพาะเมื่อมันมาปรากฏอยู่บนผิวบอบบางของลูกน้อยซึ่งถูกยุงดูดเลือด หรือที่เราเรียกกันสั้นๆ ว่า ยุงกัด จากตุ่มแดง เป็นเม็ดนูน พร้อมอาการคัน สู่การเกาจนได้เลือด และติดตามมาด้วยแผลเป็นบนผิวสวยๆ ของลูกน้อย เหล่านี้คือวงจรอันตรายจากยุง คือเมื่อยุงดูดเลือดเหยื่อ ยุงจะปล่อยน้ำลายซึ่งมีโปรตีนบางอย่างออกมาด้วย และน้ำลายของยุงยังอยู่ในรอยเจาะ เป็นตัวการทำให้ผิวหนังหลั่งสารฮิสตามีน (histamine) ออกมา ฮิสตามีนจะกระตุ้นเส้นใยประสาทให้ส่งสัญญาณไปที่สมองแล้วทำให้เกิดอาการคัน และโปรตีนในน้ำลายของยุงยังไปกระตุ้นการตอบสนองของภูมิคุ้มกันอีกด้วย ทำให้บริเวณที่โดนกัด (weal) จะเกิดการบวมแดง แม้ว่า ในที่สุดแล้วการบวมจะหายไป แต่อาการคันยังคงอยู่จนกว่าภูมิคุ้มกันจะทำให้โปรตีนนั้นสลายไป
สำหรับความรุนแรงเมื่อถูกยุงกัด ผื่นยุงกัดแสดงอาการได้หลายรูปแบบ ขึ้นอยู่กับปริมาณยุงที่กัดด้วย ส่วนใหญ่เมื่อโดนกัดซ้ำหลายๆ ครั้ง อาการมักจะน้อยลง โดยทั่วไปจะเห็นเป็นตุ่มนูน แดง คัน ขึ้นอยู่นานประมาณ 20 นาที และค่อยๆ ยุบไปได้เอง บริเวณที่พบบ่อยคือบริเวณขา อาการที่ว่ามานี้ เป็นปฏิกริยาต่อน้ำลายยุงเท่านั้น ยังไม่ถือว่า เป็นอาการแพ้ ส่วนในรายที่แพ้ยุงจริงๆ นั้น หลังถูกกัดจะพบตุ่มนูนแดงคงอยู่นานหลายวัน หรือพบตุ่มนูนแดงขนาดใหญ่ (บางครั้งใหญ่เกิน 5 เซนติเมตร) ตุ่มน้ำพอง จ้ำเลือด ในบริเวณที่โดนกัด หากมีอาการแพ้มาก อาจถึงขั้นมีผื่นลมพิษขึ้นทั่วตัว หรือลมพิษชนิดลึกร่วมกับมีอาการหมดสติได้ ซึ่งในกลุ่มนี้มักมีการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อนจากการแกะเกาและมีรอยดำตามมาอีกด้วย
แค่รายละเอียดเบื้องต้นของยุง คุณพ่อคุณแม่คงกลุ้มไปกว่าเคยอีกหลายเท่า เดี๋ยวคราวหน้าเรามาติดตามเรื่องของการรับมือ รักษา รวมถึงป้องกันอันตรายจากยุงกันต่อนะคะ
อ้างอิง
1. th.m.wikipedia.org
2. thaihealth.org